วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

วงจรการนอน และการซ่อมแซม ร่างกายระหว่างการนอน

วงจรการนอนหลับ

วงจรการนอนหลับปกติของมนุษย์เราแบ่งได้เป็น 2 ช่วงคือ

1. ช่วงหลับธรรมดา ( NON-RAPID EYE MOVEMENT SLEEP หรือ NON-REM SLEEP ) : เป็นช่วงการหลับที่จะลึกลงไปเรื่อยๆ แบ่งออกเป็น 4 ระยะ ตั้งแต่หลับตื้นไปจนถึงหลับลึก
          ระยะที่ 1 (เริ่มมีความง่วง) : เป็นช่วงเริ่มหลับที่เปลี่ยน จากการตื่นไปสู่การนอน ในคนปรกติทั่วไปมักใช้เวลาตั้งแต่ 30 วินาที - 7 นาทีเป็นสภาพที่แม้จะได้รับการกระตุ้นเพียงเล็กน้อยก็จะตื่น
          ระยะที่ 2 (หลับตื้น) : การหลับในช่วงต้น เป็นสภาพที่ไม่ได้ยินเสียงรบกวนจากภายนอก เป็นระยะแรกที่มีการหลับอย่างแท้จริง แต่ยังไม่มีการฝัน
          ระยะที่ 3 (หลับปานกลาง) : ทั้งคลื่นสมองและชีพจรจะเต้นช้าลง ความมีสติรู้ตัวจะหายไป การเคลื่อนไหวของตาจะหยุดลง แม้ได้รับสิ่งเร้าจากภายนอกก็จะไม่ตื่นโดยง่าย ปรกติขั้นนี้จะกินเวลาประมาณ 20 - 30 นาที
          ระยะที่ 4 (หลับลึก) : เป็นช่วงหลับสนิทที่สุดของการนอน กินเวลาประมาณ 30 - 50 นาที ถ้านอนหลับโดยปราศจากขั้นนี้ เราอาจมีการนอนละเมอหรือฝันร้ายได้ ช่วงระยะนี้อุณหภูมิร่างกายและความดันโลหิตจะลดลง อัตราการเต้นของหัวใจลดลงเหลือประมาณ 60 ครั้งต่อนาที โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) จะมีการหลั่งในระยะนี้

2. ช่วงหลับฝัน (RAPID EYE MOVEMENT SLEEP หรือ REM SLEEP) : เป็นช่วงที่กล้ามเนื้อต่างๆ ของร่างกายแทบจะหยุดการทำงานกันหมด ยกเว้นระบบการทำงานที่ยังชีพได้แก่ หัวใจ กระบังลมเพื่อการหายใจ กล้ามเนื้อตา และกล้ามเนื้อเรียบ เช่น หลอดเลือดและสำไส้ โดยในช่วงนี้ตาจะกลอกไปซ้ายขวาอย่างรวดเร็ว ร่างกายจะได้พักผ่อน แต่สมองจะยังตื่นตัวอยู่

ช่วงเวลาหลับฝันนี้จะกินเวลาประมาณ 30 นาที หลังจากผ่านช่วงหลับฝันไปแล้ว ก็จะกลับเริ่มที่ระยะที่ 1 ของ NON-REM ใหม่ หมุนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อยๆ โดยแต่ละรอบจะใช้เวลาประมาณ 80-120 นาที คืนหนึ่งที่เรานอนจะหมุนผ่านวงจรแบบนี้ไปหลายรอบ ขึ้นกับระยะเวลาการนอน

การซ่อมแซมร่างกายระหว่างการนอน

จะเกิดขึ้นในช่วงการหลับลึก(ระยะที่4) เป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มหลับสนิท การเคลื่อนไหวจะน้อยลงแล้วจะค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่ REM Sleep ซึ่งจะเป็นช่วงที่ร่างกายทำการฟื้นฟู ซ่อมแซมอวัยวะต่างๆ และปรับสมดุลผิวให้สวยสมบูรณ์แบบ เพราะประโยชน์สูงสุดที่เกิดกับผิวพรรณคือ ในช่วงเวลานี้ร่างกายจะมีการเคลื่อนไหวน้อยมาก ทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกาย กล้ามเนื้อ และผิวสามารถผ่อนคลายได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งเป็นช่วงเวลาที่ผิวพรรณจะได้รับการบำรุง ดูแลตามกระบวนการธรรมชาติ เนื่องจากในช่วง REM Sleep เป็นช่วงเวลาที่มีการบำรุงสมอง โดยสมองจะทำงานเก็บกักความทรงจำได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งคืนความสดชื่นแจ่มใสให้แก่ร่างกาย ถือเป็นการเตรียมความพร้อมให้ร่างกายเพื่อรับมือกับวันใหม่

การอดนอน ไม่เพียงแต่ทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า แต่ยังส่งผลให้ร่างกายเสื่อมสภาพ แก่กว่าวัยอันควร เพราะเมื่อร่างกายเข้าสู่ช่วงที่คุณหลับลึก ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมน เพื่อฟื้นฟูและคงความสมดุลให้ร่างกาย หากร่างกายพักผ่อนน้อย โกรทฮอร์โมนก็จะหลั่งน้อย ร่างกายก็จะเสื่อมสภาพและไม่แข็งแรง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มักจะมีปัญหาการนอนไม่หลับมากกว่าผู้ชาย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติของร่างกายและจิตใจ เช่น อาการหวาดระแวง เกรี้ยวกราด โรคซึมเศร้า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น